อาการปวดมือและข้อมือ
มือของเรา
มือเป็นอวัยวะที่ใช้ในการหยิบจับและทำงานหลักของร่างกาย การมีพยาธิสภาพที่มือจะเป็นอุปสรรคกับการทำงานและผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน ปัญหาของมือและข้อมือที่พบบ่อยได้แก่ โรคข้อนิ้วมือเสื่อม ภาวะเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ ถุงน้ำที่ข้อมือ เป็นต้น ส่วนอาการปวดข้อมือหรือนิ้วมือที่มีข้ออักเสบชัดเจน พบได้ใน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคข้อและกระดูกสันหลังอักเสบ เป็นต้น
โรคข้อนิ้วมือเสื่อม
โรคข้อเสื่อมเป็นสาเหตุของอาการปวดข้อของมือที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นข้อนิ้วมือเสื่อม การดำเนินโรคจะค่อยเป็นค่อยไป อาจเป็นผลจากพันธุกรรม การบาดเจ็บ หรือการใช้งานของข้อนิ้วมือที่มากจนเกินไป ผู้ป่วยจะมีอาการปวดขัดข้อนิ้วมือเวลาใช้งาน อาจตรวจพบปุ่มกระดูกนูนขนาดเท่าเมล็ดถั่วที่บริเวณข้อปลายนิ้วมือและข้อกลางนิ้วมือ ตำแหน่งของข้อเสื่อมที่พบบ่อยคือ ข้อปลายนิ้วมือ ข้อกลางนิ้วมือ และข้อโคนนิ้วหัวแม่มือ
ภาวะเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับหรือ carpal tunnel syndrome
ภาวะนี้เกิดจากการที่อุโมงค์ที่เส้นประสาทมีเดียนลอดผ่านแคบลง ทำให้เส้นประสาทมีเดียนถูกกดเบียดและเกิดความผิดปกติในการทำงานของกล้ามเนื้อหรือความรู้สึกตามแนวที่เส้นประสาทมีเดียนไปเลี้ยง คือบริเวณด้านฝ่ามือของนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วกลาง อุโมงค์ดังกล่าวอยู่ที่บริเวณข้อมือด้านฝ่ามือ ภาวะที่ทำให้อุโมงค์แคบลงมีได้หลายสาเหตุเช่น การใช้งานของข้อมือมากจนเกินไป และการติดเชื้อในข้อมือ เป็นต้น อาการมีได้หลายแบบเช่น ชาหรือปวดบริเวณมือ มืออ่อนแรงไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ รู้สึกเหมือนนิ้วมือหนาหรือบวมขึ้น ปวดแสบร้อนคล้ายไฟช๊อตที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วกลาง หรือมีอาการชาในเวลากลางคืนต้องตื่นขึ้นมาสะบัดมือ การรักษาประกอบด้วยการปรับการทำงานโดยหลีกเลี่ยงการใช้งานบริเวณข้อมือไม่ให้มากจนเกินไปหรือการดามข้อมือเพื่อลดการใช้งาน รับประทานยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณอุโมงค์เพื่อลดอาการบวมและการอักเสบ สำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวอาจทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อทำให้อุโมงค์กว้างขึ้นเป็นการลดการกดเบียดของเส้นประสาทมีเดียน
ถุงน้ำที่ข้อมือหรือ ganglion cyst
เป็นสาเหตุของก้อนที่บริเวณมือที่พบได้บ่อยที่สุด มีลักษณะเป็นถุงน้ำนุ่ม รูปร่างกลม ผิวเรียบ อาจเจ็บหรือไม่ก็ได้ พบได้บ่อยที่บริเวณหลังมือและข้อมือด้านฝ่ามือ สาเหตุของการเกิดถุงน้ำนี้ยังไม่ทราบชัดเจน ก้อนจะโตขึ้นอย่างช้าๆและอาจทำให้มีอาการปวดบริเวณข้อมือโดยเฉพาะเมื่อใช้งาน ในระยะแรกที่ยังไม่มีอาการอาจไม่มีความจำเป็นต้องรักษา แต่ควรปรึกษาแพทย์เมื่อถุงน้ำโตมากขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานของมือและข้อมือ การรักษาประกอบด้วย การพักข้อหรือดามข้อมือที่ใกล้กับถุงน้ำเพื่อลดการใช้งาน รับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ การเจาะดูดน้ำออก การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณถุงน้ำ และการผ่าตัดเอาถุงน้ำออก
การอักเสบของเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นบริเวณมือ
เอ็นของกล้ามเนื้อคือเนื้อเยื่อที่เป็นลักษณะเหมือนเทปหนาเชื่อมระหว่างกระดูกและกล้ามเนื้อ เมื่อมีการอักเสบของเอ็นดังกล่าวอาจทำให้คลำได้เป็นก้อนนูนและปวดตามแนวของเอ็นกล้ามเนื้อมัดนั้น ตามปกติเอ็นของกล้ามเนื้อจะมีปลอกหุ้มเอ็นคลุมอยู่ บางคนจึงอาจมีการอักเสบของเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นในคราวเดียวกัน สาเหตุของการอักเสบนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายหลังจากการใช้งานมากจนเกินไป การบาดเจ็บ หรือภายหลังการออกกำลังกายอย่างหนัก แต่การอักเสบของเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นอาจเกิดสัมพันธ์กับโรคบางอย่างก็ได้เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การอักเสบของเอ็นที่พบได้บ่อยได้แก่
- การอักเสบของเอ็นที่ทำหน้าที่ในการกระดกข้อมือขึ้น เรียกว่า lateral epicondylitis การอักเสบของเอ็นดังกล่าวจะทำให้มีอาการปวดบริเวณด้านนอกของข้อศอกที่อยู่ตรงกับแนวของนิ้วหัวแม่มือในท่าคว่ำฝ่ามือ อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อต้องออกแรงกระดูกข้อมือขึ้น
- การอักเสบของเอ็นที่ทำหน้าที่ในการงอข้อมือลง เรียกว่า medial epicondylitis การอักเสบจะทำให้มีอาการปวดบริเวณด้านในของข้อศอกและอาจปวดร้าวไปถึงข้อมือได้และจะปวดมากขึ้นเมื่อหักข้อมือลง
- การอักเสบของเอ็นที่ทำหน้าที่ในการกระดกนิ้วหัวแม่มือ เรียกว่า De Quervian’s tenosynovitis การอักเสบจะทำให้มีอาการปวดบวมของเอ็นที่อยู่บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ
- การอักเสบของเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ใช้ในการกำมือ เรียกว่า trigger finger เมื่อมีการอักเสบจะทำให้มีการบวม หนาของปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้วมือด้านฝ่ามือ จะมีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือมากเมื่อกำมือ อาจกำมือลำบากหรือกำแล้วเหยียดนิ้วออกยาก บางครั้งนิ้วอาจเหยียดเด้งออกมาเหมือนสปริง
การรักษาภาวะอักเสบของเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นอักเสบคือ การลดกิจกรรมหรืองานที่ต้องทำในท่ากำมือเช่น การหิ้วของหนัก เป็นต้น การดามบริเวณที่มีอาการจะช่วยป้องกันไม่ให้มีการใช้งานมากจนเกินไป รับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในตำแหน่งที่มีพยาธิสภาพจะช่วยลดการอักเสบลงได้ หากรักษาด้วยวิธีดังกล่าวแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือกลับเป็นซ้ำบ่อยๆจะพิจารณาให้การผ่าตัดเลาะปลอกหุ้มเอ็นในที่สุด