โรคกระดูกพรุนคืออะไร ?
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคหรือภาวะที่ร่างกายมีการทำลายกระดูกมากกว่าการสร้าง หรือมีการสร้างกระดูกลดน้อยลงในขณะที่มีการทำลายกระดูกคงที่ เป็นผลให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง
ผู้ใดบ้างที่มีโอกาสเกิดเป็นโรคกระดูกพรุน ?
โรคนี้มักจะพบในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ โดยจะพบในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป แต่ในเพศหญิงโรคนี้อาจเริ่มตรวจพบได้ตั้งแต่อายุ 45 ปี หรือภายหลังหมดประจำเดือนไป 5-10 ปี เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งทำหน้าที่ช่วยพยุงความหนาแน่นของกระดูกไว้ นอกจากนี้ยังมีภาวะอื่นที่สามารถทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่าย ได้แก่
1. หญิงที่ถูกตัดมดลูกหรือรังไข่ทั้งสองข้างก่อนวัยหมดประจำเดือน หรือประจำเดือนหมดเร็วกว่าที่ควร
2. การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยากันชัก เป็นต้น
3. โรคที่มีผลต่อการดูดซึมของแคลเซี่ยม ได้แก่ โรคตับ โรคไต โรคระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
4. คนผิวขาวและคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
5. การสูบบุหรี่หรือดื่มสุราเป็นเวลานาน
ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะมีอาการอย่างไรบ้าง ?
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการและไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคกระดูกพรุน นอกจากการตรวจพบโดยบังเอิญทางภาพรังสี แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการปวดกระดูกหรือกระดูกหัก เมื่อมีอุบัติเหตุที่รุนแรงไม่มากที่จะทำให้กระดูกในคนปกติหักได้ บางคนอาจมีอาการปวดหลังเรื้อรังอันเป็นผลมาจากการยุบตัวของกระดูกสันหลัง และมีหลังค่อม ตัวเตี้ยลง
แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างไร ?
การวินิจฉัยโรคนี้ระยะแรกจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือในการวัดความหนาแน่นของกระดูก ซึ่งมีราคาแพง และมีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศ การวินิจฉัยด้วยภาพรังสีธรรมดาสามารถทำได้ แต่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงก็เมื่อมีการสูญเสียกระดูกไปมากแล้ว
การรักษาโรคกระดูกพรุน
ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่ดีกว่าการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกระดูกพรุน การป้องกันสามารถกระทำได้โดย
1. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการเดินและการวิ่ง
2. รับประทานอาหารที่มีสารแคลเซี่ยมให้เพียงพอ
3. งดการดื่มสุราและการสูบบุหรี่
4. หลีกเลี่ยงยาบางประเภท เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
เมื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยดังกล่าวแล้วและผู้ป่วยยังมีอาการปวดหรือกระดูกผุอยู่ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้การรักษาทางยา ยาที่มีผลในการช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ได้แก่ ยาฮอร์โมนเอสเตรเจน วิตามินดี และยาฮอร์โมนแคลซิโตนิน เป็นต้น